การจัดแสดงสินค้าสิ่งที่สำคัญพอๆกับคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์คือการออกแบบพื้นที่บูธแสดงสินค้า ซึ่งเป็นสิ่งที่ดึงดูดความสนใจจากผู้เข้าชมงานให้แวะชมผลิตภัณฑ์ เนื่องจากผู้เข้าชมงานที่เข้ามาที่บูธนั้น มีจำนวนมากที่เป็นกลุ่มเป้าหมายลูกค้าใหม่ ที่มีโอกาสจะกลายมาเป็นลูกค้าในอนาคต รูปแบบการนำเสนอของบูธนั้น จึงสำคัญมากในการสร้างความรู้สึกประทับใจที่จะต่อยอดไปสู่การขาย
ปัจจัยหลักที่จะเกี่ยวข้องกับการออกแบบบูธคือวัตถุประสงค์ที่องค์กรวางไว้ในการเข้าร่วมงาน เช่น ถ้ามุ่งไปที่การชูภาพลักษณ์ขององค์กร ดีไซน์ของบูธก็จะเป็นแบบหนึ่งที่ต้องพิถีพิถัน และก่อสร้างตกแต่งอย่างประณีต เพื่อเน้นและนำเสนอมุมด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีของแบรนด์หรือผลิตภัณฑ์
ขณะที่การเข้าร่วมงานที่มุ่งเน้นไปที่การเข้าสู่ตลาดใหม่ เพื่อแย่งส่วนแบ่งตลาดจากคู่แข่ง สิ่งที่บูธต้องทำหน้าที่คือการสร้างโอกาสที่จะได้ติดต่อกับกลุ่มเป้าหมายลูกค้ามากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ในกรณีที่เน้น Hard sell แบบนี้ การออกแบบต้องเน้นไปที่การวางสินค้าให้โดดเด่นเตะตา เป็นที่เห็นได้ชัดของผู้ชมงานที่ผ่านไปมา และเอื้อต่อการทำงานของพนักงานขาย ไม่ว่าจะเลือกวัตถุประสงค์ที่องค์กรวางไว้ในการเข้าร่วมงานแบบไหน วันนี้ TTF มี 5 เคล็ดลับในการจัดพื้นที่บูธแสดงสินค้าเพื่อให้ดูน่าสนใจมาฝากกัน
- ผลิตภัณฑ์: ควรนำผลิตภัณฑ์ตัวจริงมาจัดแสดง ไม่ใช่การแสดงด้วยข้อความหรือภาพ และไม่ควรใส่ข้อมูลในรายละเอียดให้คนมาชมมากเกินควร ผลิตภัณฑ์ที่นำมาจัดแสดง ต้องสามารถแสดงให้ผู้ชมงานเห็นได้ว่าทำงานอย่างไร ทำอะไรได้บ้าง เพื่อช่วยให้คนดูจดจำผ่านการสาธิตผลิตภัณฑ์ และเสริมด้วย Graphic ที่มีสีสันพร้อมคำบรรยายสั้นๆ ที่เข้าใจได้ชัดเจน และมองเห็นจากระยะไกล
- Graphic: จัดวาง Graphic ต่างๆโดยคำนึงถึงระยะสายตาของผู้ชมงาน เช่น โลโก้ที่ระยะความสูง 3 เมตร จะมีประสิทธิภาพกว่าโลโก้ที่วางตรงพื้นทางเดิน รวมถึงองค์ประกอบอื่นๆ อาทิ Contrast ระหว่างตัวหนังสือกับพื้น ที่ต้องคำนึงถึงความสวยงามไปพร้อมกับการสื่อสารด้วย
- แสงสว่าง: แสงสว่างจากไฟส่วนที่สว่างที่สุดควรพุ่งไปที่ผลิตภัณฑ์หรือ Graphic ต่างๆ ในขณะที่ส่วนที่เป็นทางเดินภายในบูธควรใช้ไฟสว่างน้อยที่สุด เพื่อให้ผู้ชมงานมองไปที่ส่วนที่สำคัญที่สุดของบูธ
- ตำแหน่งการจัดวางผลิตภัณฑ์: ผลิตภัณฑ์ที่จำเป็นสำหรับการสาธิต ต้องจัดวางอยู่ในที่ๆ พนักงานสามารถใช้งานได้สะดวกและปลอดภัย โดยไม่ควรคำนึงถึงประสิทธิภาพสูงสุดในแง่ของการนำเสนอสินค้าจำนวนมากเท่านั้น แต่ต้องคำนึงถึงความสะดวกสบายของผู้เข้าชมบูธด้วย
- พื้นที่เจรจาธุรกิจ: ออกแบบพื้นที่เจรจาธุรกิจโดยคำนึงถึงความเป็นส่วนตัว และให้เสียงหรือปัจจัยภายนอกรบกวนการเจรจาน้อยที่สุด โดยเฉพาะงานประเภท B2B ที่ผู้ชมงานมักต้องการการพูดคุยและหารือในรายละเอียดกับเจ้าหน้าที่ประจำบูธ
สำหรับผู้จัดแสดงงานถ้าอยากให้บูธเป็นที่โดดเด่นดึงดูดผู้เข้าร่วมงาน สามารถนำเทคนิคข้างต้นไปประยุกต์ใช้เพื่อสร้างความน่าสนใจให้กับพื้นที่จัดแสดงได้เลยนะคะ